วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ห้องสมุดมีชีวิต





ภาพนี้จาก http://www.siced.ac.th/lib/index.php?name=anfe24

ห้องสมุดมีชีวิต

               ห้องสมุดมีชีวิต (Living library) หมายถึง ห้องสมุดที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศให้ทันสมัยครบถ้วน สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และสร้างนิสัยรักการอ่านยั่งยืนสำหรับทุกเพศทุกวัย ด้วยบรรยากาศที่มีชีวิตชีวา มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเรียนรู้ สามารถเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างรวดเร็ว มีบริการและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

รูปแบบของห้องสมุดมีชีวิต

            การจัดห้องสมุดให้มีชีวิตชีวา มีการเคลื่อนไหว และมีความก้าวหน้าอย่างมีคุณภาพนั้นมีแนวทางการจัดห้องสมุดในมิติต่างๆ ดังนี้

            1. ห้องสมุดที่เน้นมิติ ผู้เรียนสำคัญที่สุดซึ่งมีแนวคิดว่า ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ประสบผลสำเร็จได้ จะต้องได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่เกี่ยวข้องตามภารกิจและหน้าที่ จึงควรดำเนินการจัดสภาพอันพึงประสงค์เพื่อให้บริการที่ดีที่สุดสำหรับผู้เรียนได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้พัฒนาศักยภาพตนเองสูงสุด โดยการดำเนินงานตามมาตรฐานที่กำหนดทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ดังนี้

                        1.1 ดำเนินการพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนให้ได้มาตรฐานโดยประเมินตรวจสอบตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
                        1.2 ให้บริการสนับสนุนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการเรียนใน 1 ชั่วโมง 1 วัน 1 สัปดาห์ 1 โครงงาน 1 ภาคเรียน หรือ 1 ปีการศึกษา
           
2. ห้องสมุดที่เน้นมิติ แห่งภูมิปัญญาไทยมีแนวคิดว่าห้องสมุดโรงเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนางานและอาชีพ ตลอดจนการศึกษาอย่างต่อเนื่องห้องสมุดต้องรวบรวม อนุรักษ์ และให้บริการภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมไทย โดยดำเนินการดังนี้

                        2.1 ต้องให้ความรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ในเรื่องต่างๆ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
                        2.2 ห้องสมุดต้องรวบรวมสื่อทุกรูปแบบที่ทำให้ข้องมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมไทย วัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำมาจัดนิทรรศการตามโอกาส
                        2.3 จัดกิจกรรมให้ความรู้และเผยแพร่ภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น จัดบรรยาย อภิปราย นิทรรศการ สาธิต ทัศนศึกษา โดยเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาเป็นวิทยากร
                        2.4 รวบรวมองค์ความรู้ที่ยังไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จัดเก็บอย่างเป็นระบบและให้บริการ
                        2.5 พัฒนางานเทคนิคในการให้เลขหมวดหมู่ และทำรายการให้สอดคล้องกับเนื้อหา สาระทางภูมิปัญญาไทย

            3. ห้องสมุดที่เน้นมิติ สะดวกใช้ในรูปของห้องสมุดอัตโนมัติและห้องสมุดดิจิตอล

                        3.1 ห้องสมุดอัตโนมัติ โดยนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในการดำเนินงานห้องสมุดในส่วนงานบริหาร งานเทคนิค และงานบริการ

ภาพที่ 3.1 จาก https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEgEqv_e9RsJSkYZZzTPIc_I_BxZA55kVfJmP9pYGOwVo_x0MoY2wwpxqsEgm5dfZCq9Thr1hH3qlUf6bCWud7dsmLoMlWXqR0_n7XEj2WCth9WGGWqZQSHqbX5dgngy8_t4bX4kSKWjsek/s320/library1.jpg

                        3.2 ห้องสมุดดิจิตอล โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในงานสืบค้นข้อมูลจากซีดีรอมหรือจากหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E – Book )


ภาพที่ 3.2 จาก http://www.marketplus.in.th/UserFiles/Image/new1/Content%20(1).jpg

            4. ห้องสมุดที่เน้นมิติ สุนทรียภาพสุนทรียภาพเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์ ทำให้คนเกิดความซาบซึ้ง มองเห็นคุณค่าของความดีงาม มีจิตใจสงบ มีสมาธิ มีจินตนาการ สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาสุนทรียภาพมีวิธีการ ดังนี้

                        4.1 พัฒนาสุนทรียภาพด้วยการเลียนแบบ โดยใช้ทฤษฎีความเหมือน คือ ต้นแบบให้มีการลอกเลียนแบบและการกระทำซ้ำโดยการเรียนรู้และถ่ายทอดจากการได้ยิน ได้เห็น ได้สัมผัส และอาศัยการเลียนแบบ ห้องสมุดจึงควรจัดหาสื่อสารสนเทศที่สามารถเป็นแบบที่ดีจัดกิจกรรมที่ได้ทำซ้ำ เช่น ฟังแล้วฟังอีก อ่านแล้วอ่านอีก พูดแล้วพูดอีก เขียนแล้วเขียนอีก เปิดโอกาสให้กระทำซ้ำจนเกิดความประทับใจ และนำไปเป็นแบบอย่าง
                        4.2 พัฒนาสุนทรียภาพด้วยการค้นหาสิ่งใหม่ โดยใช้ทฤษฎีความแตกต่าง เพื่อความตื่นเต้นและมีชีวิตชีวาเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์หรือสมัยนิยม แต่งเติมความเป็นตนเองลงไปในงาน เป็นการแสวงหาทิศทางใหม่ให้กับตนเอง ห้องสมุดจึงต้องช่วยเปิดโลกทัศน์ของนักเรียนให้มีโอกาสเรียนรู้ในวงกว้างจากสรสนเทศที่หลากหลาย และร่วมกิจกรรมประกวดต่างๆ
                        4.3 พัฒนาสุนทรียภาพโดยการสร้างจินตนาการ โดยใช้ทฤษฎีความเป็นตนเอง ผู้เรียนได้ค้นพบตนเองว่ามีความถนัด ความสามารถในเรื่องใดจึงได้ปฏิบัติจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ ผู้เรียนจะปฏิบัติงานอย่างมีความสุขตามจินตนาการ ห้องสมุดจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการแสดงผลงานที่เกิดขึ้นจากความคิดและจินตนาการของตนเองในลักษณะการจัดนิทรรศการแสดงผลงานนักเรียน การเผยแพร่ผลงาน และการมอบรางวัล

            ดังนั้น รูปแบบของห้องสมุด จะเป็นไปตามสภาพของห้องสมุดแต่ละแห่ง เพราะมีความพร้อมแตกต่างกัน การพัฒนาห้องสมุดเดิมให้กลายเป็นห้องสมุดมีชีวิต เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจ และผู้ให้บริการมีความสุข อาจทำได้ดังนี้

            1. ต้องรู้สภาพปัจจุบันของห้องสมุดตนเอง

            2. รู้จักผู้มาใช้บริการ เป็นใคร เขาพอเข้าใจแล้วหรือยัง ทำอย่างไรให้เขาพอใจเพิ่มมากขึ้น

            3. ชักจูงคนให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

            4. พยายามให้คนอยู่ใช้ห้องสมุดให้มากที่สุด มีวารสารและหนังสือเพียงพอแก่ความต้องการของผู้ใช้ มีบริการและกิจกรรมหลากหลายรูปแบบให้ผู้ใช้มีความสุขสนุกสนานและได้รับประโยชน์จากห้องสมุด

            5. การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเรียนรู้ และสามารถเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จะต้องพิจารณาตามกำลังความสามารถของห้องสมุดตนเอง

น้ำทิพย์ วิภาวิน.  ห้องสมุดมีชีวิต.  พิมพ์ครั้งที่2.  นนทบุรี:ห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งโรจน์อินเตอร์กรุ๊ป,  
           2548. น.75-89.




การบริการสารสนเทศ





    ภาพนี้จาก http://www.thebookwave.com/news_detail.php?id=46

ประเภทบริการสารสนเทศ
          
              การบริการสารสนเทศแก่ผู้ใช้เป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินงานห้องสมุดต่างๆที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ห้องสมุดยังให้มีกิจกรรมการบริการสารสนเทศหลายประเภทเพื่อเป็นการช่วยเหลือแก่ผู้ใช้บริการ ได้แก่

          1.บริการยืมคืนทรัพยากรสารสนเทศ (Circulation Service) จัดขึ้นเพื่อที่จะได้อำนวยความสะดวกในการใช้ทรัพยากรสารสนเทศของผู้ใช้ทั้งภายในและภายนอกสถานที่

            2.บริการอ่าน (Reading Service) เป็นบริการที่สำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อการจัดบรรยากาศในสถานที่เป็นอย่างมาก

            3.บริการตอบคำถามและช่วยค้นคว้า (Reference Service) จัดเป็นหัวใจของการดำเนินงานห้องสมุด ดังนั้นการบริการให้บริการตบคำถามและช่วยค้นคว้าจึงสร้างความอบอุ่นใจให้กับผู้ใช้บริการได้มาก

            4.บริการยืมระหว่างสมุด เป็นบริการที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก ส่วนมากบริการยืมระหว่างห้องสมุดจะกระทำกันระหว่างห้องสมุดในระดับเดียวกันเท่านั้น หรือห้องสมุดที่มีลักษณะคล้ายกัน

         5.บริการสารสนเทศเลือกสรร จัดขึ้นเพื่อให้บริการทรัพยากรสารสนเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น จัดทำบรรณานุกรมเฉพาะวิชา การถ่ายหน้าสารบัญวารสารใหม่และบริการเวียนวารสารฉบับย้อนหลัง เป็นต้น

         6.บริการข่าวสารทันสมัย เป็นบริการที่ห้องสมุดจัดขึ้นเพื่อบริการสารสนเทศบางประเภท เช่น บริการบรรณานุกรมและดัชนีวารสารใหม่ บริการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศใหม่ๆ เป็นต้น

         7.บริการค้นคืนสารสนเทศ จัดบริการในห้องสมุดสถาบันศึกษา และศูนย์สารสนเทศส่วนใหญ่ จะเน้นเฉพาะการค้นคืนข้อมูลทางบรรณานุกรมเป็นหลัก

         8.บริการสำรอง เป็นบริการที่เกี่ยวพันกับบริการยืม – คืน มีวิธีการปฏิบัติเพิ่มเติมเป็นพิเศษ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการใช้ทรัพยากรสารสนเทศบางประเภทร่วมกัน

         9.บริการพิมพ์เอกสาร ห้องสมุดบางแห่งมีการรับพิมพ์เอกสาร รายงานเพื่อไว้บริการแก่นักศึกษา หรือผู้มาใช้บริการ โดยผู้ใช้บริการต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

         10.บริการส่งเสริมการใช้ กิจกรรมส่งเสริมการใช้ ช่วยให้ผู้ใช้รับรู้และรับทราบถึงเรื่องราวเหตุการณ์กิจกรรมหลายอย่างที่จัดอยู่ในประเภทการส่งเสริมการใช้ เช่น การจัดนิทรรศการห้องสมุด นิทรรศการทางวิชาการ เป็นต้น

ฉัตรรัตน์ เชาวลิต.  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสารสนเทศ : การบริการสารสนเทศ. กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยเกริก,   
           2547. น.87-89